วัดใต้น้ำ เมืองบาดาล Unseen Thailand สังขละบุรี



ทริปนี้พามารู้จักกับวัดใต้น้ำ หรือ เมืองบาดาล ซึ่งเป็น Unseen Thailand ของอำเภอสังขละบุรี และนอกจากนั้นอำเภอสังขละบุรีก็มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะทีเดียว เพราะว่าสังขละบุรีเป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนพม่า และตัวอำเภอสังขละบุรีก็ตั้งอยู่บริเวณลำน้ำสามสายที่มาบรรจบกัน ได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้อยบีคลี่ และห้วยรันตี รวมกันเรียกว่า  “สามประสบ” โดยไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อย และอำเภอสังขละบุรีก็เป็นอำเภอที่มีชาวมอญตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสามารถพบเห็นวิถีชีวิตและประเพณีเก่าแก่แบบดั้งเดิมของชาวมอญได้จากที่นี่ค่ะ เส้นทางจากทองผาภูมิมาสังขละบุรีถนนค่อนข้างโค้งเยอะ ระมัดระวังในการเดินทางกันด้วยนะคะ




ตอนนี้ขอย้อนอดีตรำลึกถึงสะพานลูกบวบกันหน่อยนะคะ หลังจากสะพานมอญ หรือ สะพานอุตตมานุสรณ์ ที่ถูกน้ำป่าซัดถล่มอย่างหนักได้พัดพาเอาตอไม้ต่างๆ ลงมาปะทะกับตอม่อ จนทำให้ช่วงกลางของสะพานได้พังลงมาเป็นระยะทางกว่า 50 เมตร ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556   ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในประเทศไทย ถึงกับขาดกลางและพังทลายลงมาท่ามกลางความเศร้าใจของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว  แต่ด้วยความศรัทธา  ความสามัคคี  และความร่วมแรงร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย ทำให้สามารถสร้างสะพานลูกบวบที่มีความยาวกว่า 300 เมตรขึ้นมาใช้ชั่วคราว โดยใช้เวลาในการสร้างสะพานไม้ไผ่แบบแพลูกบวบนี้  แล้วเสร็จภายใน 6 วันเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าสะพานลูกบวบเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ของสังขละบุรีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาชมภาพสะพานขาดกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน อิอิ




วกกลับเข้าประเด็นกันเลยดีฟ่า อิอิ  นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยววัดใต้น้ำ สามารถหาเช่าเรือได้จากบริเวณสะพานมอญนะคะ และเวลาไปเที่ยวชมวัดใต้น้ำควรเป็นช่วงเช้าถึงช่วงสายดีที่สุดค่ะ เพราะถ้าเป็นช่วงเที่ยงหรือช่วงบ่ายแดดจะแรงและร้อนมากๆ  หากไปในช่วงเย็นก็ไม่ควรจะเย็นมากเช่นกัน เพราะหากมืดค่ำการนั่งเรือกลับก็ค่อนข้างจะอันตราย เพราะฉะนั้นช่วงเช้าดีที่สุดค่ะ  ด้วยสังขละบุรีเป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนพม่า ดังนั้น เมืองชายแดนแห่งนี้ที่ถูกรายล้อมไปด้วยธรรมชาติและขุนเขาอันเขียวขจี มีแม่น้ำซองกาเลียไหลจากต้นกำเนิดในประเทศพม่าพาดผ่านอำเภอสังขละบุรีที่หล่อเลี้ยงผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำ และเชื่อมสัมพันธ์ชนชาติมอญทั้งสองประเทศมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน




ระหว่างล่องเรือสามารถชมบรรยากาศสองริมฝั่งแม่น้ำได้ตลอดทาง ก็จะพบกับวิถีชีวิตของชาวมอญ และนอกจากนั้นยังสามารถมองเห็นยอดเจดีย์พุทธคยาระหว่างการล่องเรืออีกด้วยนะคะ หากใครมีโอกาสได้มาสัมผัสกับความงดงามที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ของความมหัศจรรย์นี้ ที่ถูกขนานนามให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์แล้ว จะพบว่าสถานที่แห่งนี้มีเสน่ห์ในตัวที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็เดินทางมาชมกันไม่ขาดสาย  เมื่อเรือเทียบฝั่งก็จะมีมัคคุเทศก์ตัวน้อยชาวมอญคอยให้การต้อนรับพร้อมกับอธิบายความเป็นมา และขายดอกไม้ พร้อมพาไปชมสถานที่ต่างๆ ค่ะ




วัดใต้น้ำ หรือในอดีตคือ วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็น Unseen Thailand  เพราะมีความแปลกที่มีซากโบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ เป็นสถานที่เล่าขานในตำนานความเป็นมาของวัดหลวงพ่ออุตตมะ จนมีหลายคนเรียกกันว่า “เมืองบาดาล”  ซึ่งเมืองบาดาลในอดีตเป็นวัดวังก์เวการามที่หลวงพ่ออุตตมะ ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 ที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ใกล้กับชายแดนไทย – พม่า ในบริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ”  ที่เป็นจุดแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน ได้มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำท่วมตัวอำเภอสังขละบุรีเก่า รวมทั้งวัดวังก์วิเวการามด้วย ทางการจึงได้อพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณที่น้ำท่วม และย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขาทางด้านฝั่งตะวันตกของลำน้ำแควน้อยแทน  ส่วนวัดเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำมานานหลายสิบปีค่ะ




มัคคุเทศก์ตัวน้อยก็จะชี้ชวนให้ดูซากเก่าๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่  ไปพร้อมกับการอธิบายว่าตรงนั้นเอาไว้ใช้ทำอะไร  ตรงนี้คืออะไร  จนมาเจอกับภาพถ่ายของหลวงพ่ออุตตมะที่ตั้งอยู่ด้านในให้ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้สักการะด้วยนะคะ ดอกไม้ธูปเทียนสามารถหาซื้อได้จากเด็กๆ และชาวบ้านละแวกนั้นได้เลยค่ะ มัคคุเทศก์น้อยได้พาเราเดินเข้ามาอีกนิดก็จะเป็นอุโบสถหลังเก่าที่เป็นอาคารสี่เหลี่ยม เห็นช่องประตูหน้าต่างชัดเจน ซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ก็ยังคงมีเค้าโครงให้เห็นอยู่บ้าง ซากปรักหักพังของวัดที่ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ หอระฆัง ที่เหลือเพียงโครงสร้างกับเจดีย์สีขาว ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวของวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วมในยามน้ำเต็มเขื่อน  หากใครมาเที่ยวในช่วงหน้าร้อน ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จะเป็นช่วงหน้าแล้งน้ำหลังเขื่อนจะลดลงเป็นจำนวนมาก จนสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์เก่าได้  ส่วนคนที่มาเที่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาวตั้งแต่ประมาณตุลาคม – มกราคม อาจจะได้เห็นแค่บางส่วนของตัวโบสถ์ที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้นนะคะ หรือบางทีก็อาจจะจมน้ำเป็นเมืองบาดาลเลยก็เป็นได้ จะมีให้เห็นก็เพียงแต่ยอดหอระฆังเดิมเท่านั้นที่สูงพ้นน้ำค่ะ




จากที่เราเล่ามาอาจจะไม่สามารถบรรยายได้ทั้งหมด ถ้าอยากรู้ว่าที่นี่จะอันซีนขนาดไหน คงต้องลองไปเที่ยวชมพิสูจน์เมืองบาดาลด้วยตาของตัวเองกันสักครั้งนะคะ ช่วงหน้าหนาวหรือหลังหน้าฝนการชมวัดใต้น้ำทำได้เพียงล่องเรือไปในบริเวณใกล้กับโบสถ์ ซึ่งอาจจะเห็นเพียงผนังโบสถ์บางส่วนที่โผล่พ้นน้ำ หรือในหน้าน้ำมากๆ ก็อาจจะไม่เห็นเลย แต่ก็มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางคนยังเคยมาจัดทริปดำน้ำเพื่อดูโบสถ์ใต้น้ำก็มีนะคะ ใครอยากได้บรรยากาศแบบไหน ก็จัดช่วงมาให้ถูกต้องนะเออ อิอิ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น