อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ เขาค้อ อยู่บนสันเขาซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ ห่างจากพิพิธภัณฑ์อาวุธ และฐานยิงสนับสนุนอิทธิไปประมาณ 1 กิโลเมตร ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมอันกล้าหาญของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ที่ได้พลีชีพในการสู้รบ โดยเสียสละเลือดเนื้อ และชีวิต เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ให้รอดพ้นจากผู้ก่อการร้าย ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในพื้นที่เขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย ในช่วงปี พ.ศ.2511 - 2525
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไทยในขณะนั้น ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2526 โดยสร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของประชาชน และข้าราชการในทุกๆ ฝ่าย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีเปิดอนุสรณ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 เพื่อเป็นการเตือนใจให้คนไทยทุกคนว่า "ยามใดที่คนไทยเกิดความขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียอย่างผู้กล้าหาญทั้ง 1,171 ชีวิต ที่ได้ถูกจารึกไว้กับองค์อนุสรณ์ จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก"
เขาค้อเป็นฐานสำคัญของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี รัฐบาลในสมัยนั้นได้ดำเนินยุทธวิธีทางการเมือง โดยการนำกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ส่งเข้าไปประจำการเพื่อปราบปรามกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง จนเกิดการต่อสู้ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ต้องสูญเสียทั้งกำลังคน อาวุธ และทรัพยากรของชาติมากมายนัก จนสามารถยึดคืนพื้นที่เขาค้อทั้งหมดได้สำเร็จ คงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์การสู้รบอันกล้าหาญ และวีรกรรมของวีรบุรุษ คอยย้ำเตือนให้คนไทยเกิดความรักความสามัคคี และกลมเกลียวกันในชาติตลอดไป
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละ เขาค้อ ได้ออกแบบโดยศาสตราจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา โดยมีความหมายของขนาดและรูปทรงของอนุสรณ์สถานไว้ดังนี้ รูปร่างลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน ที่หมายถึงการปฏิบัติการร่วมกันระหว่าง พลเรือน ตำรวจ และทหาร ฐานอนุสรณ์สถานมีความกว้าง 11 เมตร ที่หมายถึงปี พ.ศ.2511 อันเป็นปีที่เริ่มมีการปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่แห่งนี้ ความสูงจากแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สถาน 24 เมตร หมายถึงปี พ.ศ.2524 อันเป็นปีที่เปิดยุทธการครั้งใหญ่ ส่วนความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึงปี พ.ศ.2525 อันเป็นปี พ.ศ.ที่สิ้นสุดลงของการต่อสู้ด้วยอาวุธ และความกว้างของฐานสามเหลี่ยมด้านละ 2.6 เมตร หมายถึงปี พ.ศ.2526 อันเป็นปี พ.ศ.ที่เริ่มการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ค่ะ
เนื่องจากอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเขาค้อ เมื่อได้มองลงไปด้านล่างก็จะพบกับทัศนียภาพแทบทั้งหมดของเขาค้อ จึงทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพต่างๆ เช่น เนินเขาลูกเล็กลูกน้อย ที่เรียงกันเป็นทะเลภูได้อย่างชัดเจนและสวยงาม หากมาในช่วงหน้าหนาวในยามเช้า ที่นี่มีทะเลหมอกด้วยนะคะ หรือยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าก็สวยงามไปอีกแบบ ถือว่าที่นี่เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนเขาค้อก็ว่าได้ ที่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจค่ะ
บริเวณโดยรอบอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ ได้มีการจัดบรรยากาศภายในสวน ด้วยไม้ดอกไม้ประดับไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนล้วนสวยงามและพาให้สดชื่น ไปด้วยดอกกุหลาบหลากหลายสีสัน ให้ความหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ ด้วยบรรยากาศที่กำลังดี ในสภาวะที่มีแสงแดดอ่อนๆ ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพกุหลาบดอกโตๆ จนแทบอยากจะหยุดเวลาไว้ชั่วขณะเลยค่ะ
เมื่อเราเดินไปเรื่อยๆ ทางด้านฝั่งตรงข้ามของอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ จะเป็นฐานกรุงเทพค่ะ ซึ่งเป็นลักษณะเนินเตี้ยๆ ที่นี่เป็นฐานยิงปืนใหญ่สนับสนุนการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งในอดีตเป็นฐานแห่งแรกที่ทหารไทยได้ยืดคืนมาได้ จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และที่นี่ยังเป็นจุดวางแผนในการปฏิบัติงานวางแผนในการสู้รบอีกด้วยนะคะ
เมื่อมาถึงบริเวณนี้ก็จะพบกับหลุมหลบภัย มีกระสอบทรายบังเกอร์เรียงรายอยู่หลายตำแหน่ง บริเวณโดยรอบได้ถูกจัดบรรยากาศ ให้คล้ายกับฐานปฏิบัติการจริงเลยค่ะ ทำให้เราอดคิดจินตนาการย้อนไปในอดีตไม่ได้ ว่าพลเรือน ตำรวจ และทหาร ที่มาปฏิบัติการที่นี่ คงจะมีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากเป็นอันมาก ทั้งความเป็นอยู่ อาหารการกิน และสภาพอากาศที่หนาวเย็น เพราะบริเวณนี้เป็นจุดสุดท้ายของเนินเขา ทำให้มีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ
เขาค้อ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นดินแดนของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่กรุ่นไปด้วยควันไฟแห่งการสู้รบ จากผู้ที่มีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ถือเป็นดินแดนต้องห้ามที่คนทั่วไปไม่ควรเข้าใกล้แม้แต่น้อย เพราะถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก แต่ใครจะไปรู้ว่าเมื่อวันเวลาได้ผ่านไป และความขัดแย้งได้ยุติลง เขาค้อจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ที่คอยย้ำเตือนให้คนไทยรุ่นหลังทุกคน ควรมีความรักความสามัคคีกัน เพื่อไม่ย้อนรอยไปเช่นเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา