วัดพระพายหลวง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


วัดพระพายหลวง  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากวัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานในยุคตอนต้นของเมืองสุโขทัย ที่มีโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมบางส่วน เป็นศิลปะขอม ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งดั้งเดิมได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถาน แต่ต่อมาได้สร้างเพิ่มเติมให้เป็นพุทธสถานค่ะ


วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ก่อสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น และมีการสร้างเพิ่มเติม ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย วัดพระพายหลวงจึงเป็นแหล่งรวมงานศิลปกรรมหลายยุคหลายสมัย ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน มีปรางค์ศิลาแลง 3 องค์ เป็นประธานของวัด องค์กลางและองค์ทางด้านทิศใต้ได้ผุพังเหลือเพียงฐาน คงเหลือเพียงองค์ทางด้านทิศเหนือเท่านั้นที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่


วัดพระพายหลวง มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ วิหาร 5 ห้อง อยู่ทางด้านหน้าพระปรางค์ เจดีย์ทรงเหลี่ยมแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปนั่งลดหลั่น อยู่ภายในทั้ง 4 ซุ้ม ส่วนรอบเจดีย์มีระเบียงคด และมีร่องรอยตั้งพระพุทธรูปปูนปั้น ถัดจากเจดีย์เหลี่ยมจะมีมณฑปก่ออิฐ มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปยืน ติดกับด้านหน้ามณฑป 5 องค์ ที่ปรากฎชัดเจน คือ พระพุทธรูปปางลีลา ถัดจากมณฑปมีวิหารพระนอน และมีวิหารเจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบวัดทั้ง 4 ด้าน


วัดพระพายหลวง เป็นศูนย์กลางของชุมชน นับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสุโขทัย ที่นี่ยังเป็นสถานที่พบหลักฐาน พระพุทธรูปแกะสลักปางนาคปรกทำด้วยหินทราย และพบชิ้นส่วนด้านล่างขององค์พระ ที่มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมโปรดให้สร้างขึ้น และนำไปประดิษฐานตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทราบว่า ดินแดนแห่งนี้นับเป็นเขตเหนือสุดของไทย  ที่อารยธรรมขอมสามารถแผ่อิทธิพลมาถึง


โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ ที่เป็นปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรแบบบายน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสี่อิริยาบท คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน ปัจจุบันได้ปรักหักพังตามกาลเวลาลงไปเกือบทั้งหมด ส่วนบริเวณหน้าพระปรางค์ มีวิหารที่เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ เป็นวัตถุถาวรที่สร้างเสริมต่อขยายออกไปทางด้านหน้าของพระปรางค์สามองค์ เช่น เจดีย์เหลี่ยมที่เหลือเพียงยอดปรักหักพัง


วัดพระพายหลวง เป็นศูนย์กลางของชุมชน นับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสุโขทัย ที่นี่ยังเป็นสถานที่พบหลักฐาน พระพุทธรูปแกะสลักปางนาคปรกทำด้วยหินทราย และพบชิ้นส่วนด้านล่างขององค์พระ ที่มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมโปรดให้สร้างขึ้น และนำไปประดิษฐานตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทราบว่า ดินแดนแห่งนี้นับเป็นเขตเหนือสุดของไทย  ที่อารยธรรมขอมสามารถแผ่อิทธิพลมาถึง


แม้ปัจจุบันโครงสร้างส่วนใหญ่ของวัดพระพายหลวง จะหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็พอที่จะจินตนาการความงดงาม จากสิ่งที่หลงเหลืออยู่แม้เพียงบางส่วนก็ตาม ว่าสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมงดงามเพียงใด หลังจากที่เราได้เดินชมบริเวณโดยรอบ ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ ความสวยงามของศิลปะในแบบเขมรบายน และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไทยในครั้งอดีต ถือว่าคุ้มค่ากับการเดินทาง มาเยือนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยค่ะ