การเดินทางไปเยือนจังหวัดใดก็ตาม
หากมีโอกาสได้ไปสักการะเสาหลักเมืองของจังหวัดนั้นๆ ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลสำหรับตนเองและครอบครัวยิ่งนัก
เพราะเสาหลักเมืองถือว่าเป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งเมือง
ซึ่งในแต่ละครั้งที่เราไปเยือนจังหวัดใดก็ตาม ถ้ามีเวลาและโอกาสเรามักจะไปสักการะศาลหลักเมืองจังหวัดนั้นอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับที่นี่เช่นกัน ศาลหลักเมืองน่านอยู่ในวัดมิ่งเมือง โดยชาวพื้นเมืองที่นี่จะเรียกกันว่า
“เสามิ่ง” หรือ “เสามิ่งเมือง” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อวัดมิ่งเมืองนั่นเอง
การไหว้พระเสริมดวงชะตาถือว่าเป็นสิ่งที่คนไทยนิยมทำกันมาช้านาน เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว “ศาลหลักเมือง” ถือเป็นหลักชัยของแผ่นดิน
การมากราบไหว้ฝากดวงชะตาถวายกับเจ้าพ่อหลักเมืองนั้น
ถือเป็นการนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ โดยโบราณเชื่อกันว่า ... แผ่นดินใดก็ตามเมื่อมีศาลหลักเมืองและคนได้ไปกราบไหว้นั้น
ยิ่งทำให้เกิดพุทธานุภาพต่อดวงชะตาตัวเองและครอบครัว
และการประกอบธุรกิจการงานก็จะสำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ทั้งนั้น
การกราบไหว้เสริมดวงชะตาก็เป็นเรื่องของความเชื่อ
เราเองก็ต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและไม่ประมาณด้วยเช่นกันนะคะ
น่าน เป็นจังหวัดที่ใครหลายๆ คน
ต่างกล่าวกันว่าเป็นเมืองคู่แฝดของหลวงพระบาง เพราะจังหวัดแห่งนี้ เป็นเมืองเล็กๆ
ที่มีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่สุขสงบเรียบง่ายที่คล้ายกันมาก
และด้วยความที่เมืองน่านเป็นเมืองวัฒนธรรมนี่เอง จึงมีวัดวาอารามตั้งอยู่มากมาย และแน่นอนว่าเมื่อใครที่มีโอกาสได้เดินทางมาเยือนจังหวัดน่านแล้ว
จะต้องแวะมากราบไหว้และสักการะศาลหลักเมืองประจำจังหวัดน่านกันอย่างแน่นอน ก้าวแรกที่เรามาถึงบริเวณวัดมิ่งเมือง
ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลหลักเมืองน่าน สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตา คือ ศาลาจตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาวอันวิจิตรงดงามตระการตา
วิธีการสักการะศาลหลักเมือง
โดยการนำดอกไม้ธูปเทียนและผ้าแพรสามสีที่สามารถหาซื้อได้จากเจ้าหน้าที่ของศาลหลักเมือง
หลังจากนั้นก็ไปจุดธูปเทียนยังบริเวณศาลหลักเมือง พร้อมกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยและตั้งจิตอธิษฐาน ณ เสาหลักเมืองซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถมีความสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อว่า
เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา การสักการะเสาหลักเมืองน่านนั้น
ควรสักการะให้ครบทั้งสี่ทิศ เพราะในแต่ละทิศนั้น
จะมีความหมายเป็นมงคลของทิศแตกต่างกันไป โดยเริ่มจากทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก
ทิศใต้ และทิศตะวันตก
เสาหลักเมืองน่าน
เดิมนั้น ตัวเสาเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ฟุต สูงประมาณ 2 เมตรครึ่ง
ลักษณะเป็นเสาทรงกลม ส่วนหัวเสาเกลาด้วยดอกบัวตูมฝังลงพื้นดินโดยตรงและไม่มีศาลครอบ
เมื่อพุทธศักราช 2506 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่
น้ำในแม่น้ำน่านได้ทะลักเข้าท่วมตัวเมืองน่านอย่างรุนแรง
กระแสน้ำได้เซาะรากโคนเสาหลักเมืองซึ่งผุกร่อนตามกาลเวลา เพราะฝังดินมาเป็นเวลานานกว่า 170 ปี จนโค่นล้มลง เจ้าอาวาสจึงได้นำเสาไปผูกมัดไว้ใต้ถุนหอกลองหลังวัด
เมื่อน้ำลดเป็นปกติแล้ว เจ้าอาวาสพร้อมกับคณะศรัทธาวัดมิ่งเมืองแห่งนี้
ได้ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองจำลองขึ้นที่เดิมอีกครั้ง โดยทำเป็นเสาก่อด้วยอิฐปูน ก่อฐาน 4 เหลี่ยมลดหลั่นเป็นชั้น
ถัดเข้าไปก็จะเป็นโบสถ์ของวัดมิ่งเมือง ซึ่งภายในมีจิตรกรรมประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน อุโบสถวัดมิ่งเมือง เดิมทีนั้น
วิหารหลังเดิมมีลักษณะทางสถานปัตยกรรมโดยช่างฝีมือแบบสถานปัตยกรรมล้านนา
ต่อมาภายหลังได้มีการปรับปรุงบูรณะซ่อมแซม
ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกับแนวความคิดสมัยใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นชัดเจนมาก คือ วิหารวัดมิ่งเมือง
ที่มีลวดลายศิลปะปูนปั้นตกแต่งประดับตัววิหาร มีความสวยงามวิจิตรอย่างมาก
นับเป็นงานฝีมือของช่างปูนสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน อุโบสถหลังใหม่เป็นศิลปะแบบล้านนาร่วมสมัยออกแบบโดยพระครูสิริธรรมภาณี
ที่มีความวิจิตรงดงามด้วยลวดลายประติมากรรมปูนปั้นสีขาวทั้งหลัง โดยฝีมือของ
สล่าเสาร์แก้ว เลาดี ช่างเชียงแสนโบราณ
ซึ่งเป็นลวดลายประติมากรรมเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ตามความเชื่อของตัวละครในวรรณคดีต่างๆ
รวมถึงลวดลายพื้นหลังบริเวณรอบอาคารอุโบสถ และศาลหลักมืองที่ไม่ซ้ำกัน
และภายในอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา
และวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน โดยคุณสุรเดช กาละเสน
ฝีมือจิตรกรพื้นเมืองยุคปัจจุบันค่ะ
พระประธานในอุโบสถเป็นองค์เดิมที่คู่มากับวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ เป็นศิลปะเชียงแสนมีอายุกว่า 400 ปี ซึ่งมีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง”
ที่มีลักษณะงดงามตามพุทธศิลป์แบบเชียงแสน
โดยเฉพาะที่ยอดพระเกตุโมฬีเป็นรูปดอกบัวตูม แกะสลักจากหินแก้วเจียร
หรือแก้วโป่งขาม ซึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น
ด้านข้างอุโบสถมีพระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ
ซึ่งในวัดสำคัญทางภาคเหนือนิยมสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระเจ้าทันใจ” ซึ่งหมายถึง พระพุทธรูปที่ใช้เวลาในการสร้างสำเร็จได้ภายใน 1 วัน จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดินของวัดถัดไป
ถ้าสร้างไม่เสร็จก็ถือว่าเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น
มีขั้นตอนและพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน
การสร้างพระพุทธรูปและสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกสำเร็จได้ภายใน 1 วัน
จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ
และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค ดังนั้น
พุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่จะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจค่ะ
วัดมิ่งเมือง หากมองไปมองมาความงดงามไม่ต่างไปจากวัดร่องขุ่นเลยนะคะ
ว่าแต่ใครมองอย่างที่เราคิดหรือป่าวเอ่ย?? ถ้าคิดไม่ตรงกันก็ปล่อยผ่านไปเนอะ ฮ่าๆ วัดมิ่งเมืองเป็นวัดสำคัญใจกลางเมืองน่าน
และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายให้ได้สักการะ และเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองน่านอีกด้วย
หากมีโอกาสได้มาเยือนเมืองน่านแล้ว
หาโอกาสและเวลามาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงค์กันสักครั้งนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น