คุ้มเจ้าหลวง สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย หากมองจากทางด้านหน้าอาคารของคุ้มเจ้าหลวง ก็จะเห็นรูปปั้นขององค์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ตั้งตระหง่านให้กราบไหว้กัน ซึ่งคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่า ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีรูปทรงเป็นอาคาร 2 ชั้น เป็นแบบไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกกันว่า แบบขนมปังขิง มีความหรูหรา และโอ่โถงเป็นอย่างมาก เป็นงานฝีมือของช่างชาวจีนและช่างพื้นบ้าน ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าเข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น.
คุ้มเจ้าหลวง ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของจังหวัดแพร่ เพราะครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประทับแรม ในระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ.2501 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จประทับแรม ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จมา ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จมา ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2549
คุ้มเจ้าหลวง เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงตอนต้น ที่มีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ลักษณะมีหลังคามุงด้วยไม้ ที่เรียกกันว่า ไม้แป้นเกล็ด ไม่มีหน้าจั่ว เป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร โดยหลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม มีปั้นลมและชายคาน้ำรอบตัวอาคาร ประดับประดาด้วยไม้แกะฉลุ สลักลวดลายอย่างสวยงาม ซึ่งมุขด้านหน้าตัวอาคาร แต่เดิมมีบันไดขึ้นลง 2 ด้าน คือทางทิศเหนือและทางทิศใต้ แต่ปัจจุบันได้รื้ออกไปแล้ว คงเหลือแต่บันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเพียงเท่านั้น
เมื่อได้เดินเข้าประตูมา ก็จะเจอกับห้องแรกค่ะ ซึ่งห้องนี้มีรูปภาพของเจ้าหลวงพิริยวงศ์ และแม่เจ้าบัวไหล ซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 2 เนื่องจากเจ้าหลวงฯ ได้เลิกกับภรรยาคนแรกไป เพราะไม่มีบุตรด้วยกัน ส่วนเจ้าหลวงฯ และเจ้าบัวไหล มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 7 พระองค์ ส่วนอีกห้องตรงกลางเป็นห้องรับประทานอาหาร มีโต๊ะและเก้าอี้ทำมาจากไม้มะฮอกกานี ส่วนถ้วยชามที่ได้จัดวางบนโต๊ะ เป็นเซรามิคที่ใช้ในสมัยนั้น
ภายในตัวอาคารคุ้มเจ้าหลวง มีการจัดห้องต่างๆ มากมาย ซึ่งประกอบไปด้วย ห้องนอน 2 ห้อง มีห้องทำงาน ห้องจัดนิทรรศการ ห้องพิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณไว้มากมายหลายอย่าง มีโบราณวัตถุมากมายอยู่ในตู้กระจก ภายในมีการตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ที่หาดูได้ยาก ส่วนตู้ทั้งหมดที่เห็นในห้องนี้ ทำมาจากไม้สักทอง ซึ่งเป็นไม้ของเมืองแพร่ ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงตู้โบราณ และเครื่องถ้วยชามต่างๆ ค่ะ
ภายในตัวอาคารมีการจัดแสดงของใช้ส่วนตัว ของเจ้าหลวงเมืองแพร่ไว้เป็นสัดส่วน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ของเจ้าเมืองแพร่ในอดีต เนื่องจากสิ่งของเก่าแก่ที่หาดูได้ยาก บวกกับบรรยากาศของบ้านในสมัยโบราณ ที่ทำให้เวลาเดินอยู่ภายในคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ ได้รับถึงความรู้สึกเสมือนว่าเดินอยู่ในสมัยนั้นเลยค่ะ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมพร้อมกับศึกษาประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ได้จากสิ่งของเครื่องใช้โบราณภายในตัวอาคารได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุ้มเจ้าหลวง ยังได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2536 และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2540 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ห้องนอนภายในคุ้มเจ้าหลวง มี 2 ห้อง คือห้องนอนเจ้าหลวง และห้องนอนของแม่เจ้าบัวไหล ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวอาคาร ตามความเชื่อของชาวล้านนาในอดีต โดยแบ่งเป็นห้องนอนของเจ้าหลวง และห้องนอนของแม่เจ้าบัวไหล ซึ่งเพียงกั้นแบ่งด้วยผนังไม้ แต่ไม่ถึงเพดาน และมีประตูห้องเชื่อมถึงกันได้ เนื่องจากเจ้านายในสมัยนั้น จะไม่นิยมนอนห้องเดียวกัน ห้องนอนทั้งสองห้องนี้ ได้ถูกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ ทั้งโต๊ะ ตู้ เตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นแบบอังกฤษ และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวล้วนสวยงาม และมีสไตล์ ซึ่งเป็นของนำเข้าจากประเทศอังกฤษทั้งสิ้น ทำให้รู้ว่าท่านมีรสนิยมในการเลือกใช้ของเป็นอย่างดีค่ะ ส่วนอีกห้องเป็นห้องของเจ้าเวียงชื่น
ภายใต้ตัวอาคารที่มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร มีห้องสำหรับคุมขังข้าทาสบริวาร บริเวณห้องใต้ดิน จำนวน 3 ห้องด้วยกัน สำหรับผู้ที่กระทำความผิด โดยห้องกลางเป็นห้องทึบ มีแสงสว่างส่องเข้าไปไม่ได้เลย ใช้เป็นที่คุมขังข้าทาสบริวารที่กระทำความผิดที่ร้ายแรง ส่วนอีก 2 ห้อง ด้านปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องให้แสงสว่างเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้ที่มีความผิดชั้นลหุโทษ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกาศเลิกทาส คุมทาสจึงกลายเป็นที่คุมขังนักโทสทั่้วไป ของเจ้าหลวงหรือข้าหลวงในสมัยต่อมา
ปัจจุบันคุกใต้ดินแห่งนี้ ได้หลงเหลือไว้เพียงตำนานเท่านั้น หากเข้าไปภายใต้สามารถสัมผัสได้ถึงความวังเวง และอากาศเย็นชื้น ชวนทำให้ขนลุกยิ่งนัก ตามฝาผนังมีรูปภาพวิธีการต่างๆ ในการลงโทษผู้กระทำความผิดไว้ด้วยนะคะ แต่ทั้งนี้ก็มีความเชื่อและเคล็ดลับว่า การเข้าชมคุกใต้ดินนี้ เวลาเข้าให้หันหลังแล้วเดินถอยหลังเข้าไป ส่วนตอนออกก็ให้เดินหน้าออกมา อย่าได้หันหลังกลับไปมองคุกนะคะ ซึ่งคุ้มเจ้าหลวง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในเมืองแพร่ ที่น่ามาศึกษาและท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งสถานปัตยกรรมเก่าแก่ ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงจังหวัดแพร่นะคะ