วัดนางพญา เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ติดกับกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งวัดนางพญาได้สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย และเป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามอย่างยิ่ง ที่ปรากฎอยู่บนผนังวิหาร โดยมีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ที่แต่เดิมมีปูนปั้นช้างประดับอยู่โดยรอบ เช่นเดียวกับวัดช้างล้อม บริเวณองค์ระฆังมีการทำซุ้มยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ รูปทรงของเจดีย์คล้ายคลึงกับเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกัน
วัดนางพญา มีบริเวณที่กว้างขวางพอสมควร ภายในวัดมีเจดีย์ทรงกลม ประกอบด้วยซุ้มเรือนธาตุเป็นประธาน ก่อด้วยศิลาแลงขนาดสูงใหญ่ และมีสภาพที่สมบูรณ์ รอบฐานเจดีย์มีเสาโคมไฟโดยตลอด มีบันไดขึ้นไปบนเจดีย์ และวิหารของวัดนางพญามีลักษณะเป็นอาคารทึบ ขนาด 7 ห้อง ซึ่งเป็นผังที่นิยมสร้างกันในแบบสุโขทัย และสถานปัตยกรรมเมืองเหนือ ภายในวิหารตามเสาทุกด้าน มีเทพพนมและลวดลายต่างๆ ที่ทำด้วยสังคโลกแบบไม่เคลือบ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลง มีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง เป็นลูกกรงสี่เหลี่ยม ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหาร ประดับลายปูนปั้น เช่น ลายรักร้อยแข้งสิงห์ ประจำยาม ฯลฯ ที่มีความงดงามที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากศิลปะล้านนาและศิลปะจีน
ภายในเจดีย์มีแกนเจดีย์ประดับด้วยลายปูนปั้น ด้านหน้าเป็นวิหารก่อผนังเจาะเป็นช่องแสง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่สวยงาม ลวดลายที่ปรากฎเป็นลวดลายพรรณพฤกษาและลายเทพพนม จุดเด่นของวัดนางพญา คือ มีผนังเหลืออยู่เพียงด้านเดียวเท่านั้น ที่มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามค่ะ แต่ปัจจุบันได้หลุดลอกออกไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาคลุมผนังไว้อีกทีเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งผนังดังกล่าวเป็นผนังที่ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องอากาศตามแบบสุโขทัย และอยุธยาตอนต้นค่ะ และที่เป็นลักษณะเด่นอีกอย่าง คือ ลายปูนปั้นที่ทำเป็นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ได้ชำรุดไปแล้วเป็นบางส่วน เป็นรูปแบบลวดลายทั้งหมดที่ปรากฏเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นงานฝีมือระดับชั้นครู