วัดวรเชษฐ์ เป็นวัดที่ถูกลืมจริงหรือ!! พระนครศรีอยุธยา



พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางและอยู่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปเช้าเย็นกลับได้อย่างสบาย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่น่าสนใจ เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ และเคยมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และหากใครที่ช่างสังเกต จะพบว่าจังหวัดอยุธยาเป็นจังหวัดที่ไม่มีอำเภอเมือง มีแต่อำเภอพระนครศรีอยุธยาค่ะ และชาวบ้านเก่าแก่ทั่วไปจะนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กรุงเก่า หรือ เมืองกรุงเก่า




วันนี้เราจะพามาเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กันที่นี่ กับวัดวรเชษฐ์ ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีสิ่งหนึ่งที่หลายคนคงจะสงสัย คือ วัดวรเชษฐ์ในอยุธยามีอยู่ 2 แห่ง ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน คือ วัดวรเชษฐาราม ที่อยู่บริเวณในเกาะเมือง และวัดวรเชษฐ์ที่อยู่บริเวณนอกเกาะเมือง ซึ่งทั้ง 2 วัด ต่างก็ถูกสันนิษฐานว่าที่หนึ่งที่ใดนั้น เป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกันแน่ แต่ก็มีคำบอกเล่ากันมาว่า วัดวรเชษฐาราม เคยมีผู้ลักลอบขุดกรุเจดีย์พระประธาน โดยได้พบผอบบรรจุอัฐิ ซึ่งมีพระพุทธรูปนาคปรกล้อม อันเป็นพระพุทธรูปประจำวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า วัดวรเชษฐาราม น่าจะเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระเชษฐาของพระองค์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานอื่นใด ที่สามารถบ่งชี้หรือระบุได้ว่า สถานที่แห่งใดที่เป็นที่ปลงพระศพและบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช




ส่วนวันนี้เราจะพามารู้จักกับ วัดวรเชษฐ์ ที่ตั้งอยู่บริเวณนอกเกาะ บริเวณสี่แยกไฟแดง ในตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยากันก่อนนะคะ พอรถเลี้ยวเข้ามาบริเวณวัด สภาพแวดล้อมโดยรอบเสมือนเป็นวัดร้างค่ะ ไม่ค่อยมีผู้คนมากนัก แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาบ้าง บรรยากาศภายในวัดดูเก่าแก่มีความเป็นอดีตมากทีเดียว ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พระปรางค์ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ไม่มีกำแพงวัดล้อมรอบ และพระปรางค์องค์นี้สามารถขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปด้านบนได้ด้วย




ภายในวัดประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบการสร้างอยู่ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการสร้างปรางค์เป็นประธานของวัดทางด้านทิศตะวันตก ส่วนบริเวณหลังปรางค์ประธานเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ส่วนพระวิหารตั้งอยู่เยื้องออกไปทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ทางด้านทิศเหนือขององค์ปรางค์ประธานมีเจดีย์หลายทรง ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์ที่งดงามและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ถ้าสังเกตภายในวัดวรเชษฐ์จะมีรูปแบบทางศิลปะที่หลากหลายมาก มีทั้งแบบพระปรางค์ แบบระฆัง 




บริเวณนี้ปรากฎหลักฐานว่า เป็นอาคารมีผนังสูงล้อมรอบ และมีพระพุทธรูปปรักหักพังเรียงรายอยู่หลายองค์ ยังมีร่องรอยของประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้อยู่หลายจุดเหมือนกัน สังเกตได้จากดอกไม้สดที่วางตามจุดต่างๆ แต่ที่นี่เป็นที่โล่งลมพัดค่อนข้างแรง จะเป็นอุปสรรค์ในการจุดธูปเทียน เมื่อได้กราบไหว้แล้ว เราก็เดินชมต่อ เพราะอากาศค่อนข้างจะร้อนอบอ้าว เพราะเดินทางมาในยามบ่ายนั่นเอง เง้ออ ภายในวัดวรเชษฐ์สิ่งที่น่าสนใจและโดดเด่นมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น ปรางค์ประธานเก่าแก่ที่ตั้งตะหง่านอย่างสง่า มองกี่ครั้งก็งดงามค่ะ




วัดวรเชษฐ์ แม้เป็นวัดเล็กๆ  แต่มากไปด้วยความงดงามที่ถูกถ่ายทอดมาจากในครั้งอดีต แม้วัดนี้จะไม่ค่อยมีป้ายบอกทาง แต่เราก็เดินทางมาถึงเพราะความตั้งใจนะเออ ซึ่งวัดแห่งนี้คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะชื่อ วัดประเชด วัดวรเชตุเทพบำรุง ก่อนจะเป็นวัดวรเชษฐ์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งกรุงศรีอยุธยามีอดีตมากมายนัก เพราะเป็นราชธานีอยู่หลายร้อยปี จึงอยากจะเชิญชวนให้มาเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กันดูบ้าง เพราะมีเสน่ห์ในความเป็นไทย ที่อยากให้ประทับใจในทุกๆ คนที่ได้มาเยือนค่ะ