วัดพระธาตุลำปางหลวง มนต์เสน่ห์เจดีย์โบราณแห่งล้านนา


เรายังคงแอ่วเมืองเหนือม่วนจิตม่วนใจอยู่นะเจ้า กับเส้นทางแห่งพุทธศาสนา ทริปนี้เราพามาที่ลำปาง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในประเทศไทย ที่ยังคงมีอารยธรรมล้านนาไทยไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย ทั้งวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัดวาอาราม และสถาปัตยกรรม ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ในอดีต วัดพระธาตุลำปางหลวง อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด เมื่อได้มาเยือนลำปาง เพราะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาตั้งแต่ครั้งโบราณ นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิด ของคนเกิดปีฉลูด้วยนะคะ


วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ตำนานได้กล่าวว่า ในสมัยพระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย วัดแห่งนี้เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทยก็ว่าได้ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ที่สร้างขึ้นในแนวกำแพงใหญ่ ที่ทอดตัวยาวกั้นทุกอย่างไว้ในบริเวณวัด ซึ่งตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดได้อย่างลงตัว และสมบูรณ์แบบที่สุด บริเวณพุทธาวาสจะประกอบไปด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวงเป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง แต่ก็น่าแปลกใจตัวเองจริงๆ ทุกครั้งที่ได้เดินทางมาที่นี่ มักจะขึ้นทางด้านเขตสังฆาวาสทุกที เพราะทางเข้าตรงนี้อยู่ใกล้ที่จอดรถนะคะ ไม่ต้องเดินไกล แฮ่ๆ และยังได้กราบไหว้พระอวนอิมโพธิสัตว์ พระสังกัจจายน์ และพระพิฆเนศด้วยนะเออ


ถัดจากซุ้มประตูโขงขึ้นไป ก็จะเป็นวิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุ มีวิหารบริวารตั้งอยู่ทุกทิศ คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านทิศใต้มีวิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ มีวิหารละโว้และหอพระพุทธบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศใต้ มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบไปด้วย อาคาร หอพระไตรปิฏก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์ และกุฏิสงฆ์ ฯลฯ แล้วเราจะค่อยๆ พาเดินชมในส่วนต่างๆ ของวัดพระธาตุลำปางหลวงนะคะ


อีกหนึ่งไฮไลท์ของที่นี่ คือ ไม้ค้ำสะหลี หรือ ไม้ค้ำต้นโพธิ์ค่ะ ซึ่งวัดพระธาตุลำปางหลวง ถือว่าเป็นวัดที่มีไม้ค้ำต้นโพธิ์เยอะที่สุดในประเทศไทย ตามความเชื่อของชาวพุทธ ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ที่เป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ส่วนมากจะปลูกไว้ในวัด ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโต จะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นลงมาได้ เมื่อยามต้องลมพัดแรงๆ จึงได้มีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งเอาไว้ ไม้ง่ามนั้นเรียกกันว่า "ไม้ค้ำโพธิ์" หรือ "ไม้ค้ำสะหลี" ซึ่งนอกจากจะเป็นไม้ค้ำยันกิ่งไม่ให้หักล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึง การค้ำบูชาพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป และอีกหนึ่งความเชื่อว่า กุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ จะมีคนช่วยเหลือค้ำชู ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไป ในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหลือของไทยค่ะ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ ที่มาถึงวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว .... ไม่ควรพลาดค่ะ


ในส่วนของบันไดด้านหน้า จะเป็นนาคสองชั้น หัวนาคชั้นแรกเป็นมังกรคล้ายนาค ตามคตินิยมทางภาคเหนือ ชั้นที่สองเป็นหัวนาคหัวเดียว มีนาคและหงส์ตามชั้นต่างๆ ตลอดจนถึงยอด ดูสวยงามยิ่งนักค่ะ สองข้างตรงเชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว เมื่อเดินขึ้นไปตามบันไดนาค ขึ้นไปจนถึงซุ้มประตูโขง ซึ่งก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้นๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ ของเมืองลำปางในตราจังหวัดลำปางด้วยนะคะ


วัดพระธาตุลำปางหลวง มีวิหารหลวงเป็นวิหารประธานของวัด ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ประธาน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกค่ะ บนแนวเดียวกันกับประตูโขง เดินขึ้นมาก็เจอเลย วิหารหลวงมีลักษณะ เป็นวิหารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดโล่งขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ยกพื้นสูงจากพื้นดินเล็กน้อย หลังคาจั่วซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งหล่อด้วยสำริดปิดทอง ในท่าขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 2 คืบ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสนผสมกับศิลปะสุโขทัย ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของเมืองลำปางค่ะ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก


ส่วนภายในพระวิหารหลวง ยังมีภาพเขียนจิตรกรรม ประดับอยู่บนแผงคอสองด้านข้างทั้งสองด้าน ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านี้ เป็นภาพเขียนที่สวยงาม และหาชมได้ยากมากแล้ว เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักร หรือ รามเกียรติ ฉบับสำนวนล้านนาค่ะ ถัดมาด้านหลังของวิหารหลวง จะเป็นองค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่โดดเด่นที่สุด ในวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลศิลปกรรมแบบสุโขทัย ก่ออิฐถือปูน ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุค่ะ


ถัดมาทางทิศใต้ของพระธาตุเจดีย์ เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธ ตัวอาคารมีขนาด 5 ห้อง สร้างครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่ผ่านการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา โดดเด่นด้วยลายประดับสีทองบนพื้นสีแดง ซึ่งบนผนังด้านนอกและด้านใน รวมถึงต้นเสา มีลวดลายลงรักปิดทอง แบบล้านนาที่หาชมได้ยากแล้ว ภายในมีพระประธานองค์ใหญ่ นามว่า "พระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อพระพุทธ" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนก่อด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทองงดงามมากๆ ค่ะ มาต่อด้วยหอพระพุทธบาทกันเลยนะคะ เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนฐาน ส่วนตัวอาคาร และส่วนหลังคาค่ะ ก่อฐานขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างครอบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ แต่น่าเสียดาย ที่หอพระพุทธบาทนี้ห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปค่ะ แป่วๆ


ออกจากเขตพุทธาวาส เข้าสู่เขตสังฆาวาสกันบ้างนะคะ ซึ่งนอกกำแพงแก้วด้านทิศใต้ มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาสค่ะ ซึ่งมีอาคารเล็กอาคารน้อยหลายหลังด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย มณฑปพระพุทธสิงห์เพชรมิ่งมงคล มีพระพุทธสิงห์เพชรมิ่งมงคล เป็นพระประธานในวิหาร วิหารวัดพร้าว (วัดลุ่ม) มีพระศรีศากยมุนี หรือหลวงพ่อปากแดง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระโอษฐ์สีแดงลงรักปิดทอง เป็นพระประธานของวิหารวัดพร้าวค่ะ วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ ซึ่งในส่วนนี้เราอาจจะเก็บภาพและรายละเอียดมาไม่ครบถ้วน แต่เอาที่สำคัญหลักๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ


อาคารอีกหลังก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย คือ พิพิธภัณฑ์ไม้ ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมศิลปะและวัตถุต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น ได้จัดแสดงพระพุทธไม้ งานไม้แกะสลัก เครื่องไม้จำหลัก คัมภีร์จารึกอักษรล้านนา สัตตภัณฑ์ อาสนะ รวมถึงการแสดงเครื่องแต่งตัวม้า กังสดาล ศิลปะล้านนาอายุเกือบร้อยปี เศษภาชนะปูนปั้น ผางลางเครื่องที่ทำให้เกิดเสียง ใช้ต่างบนหลังวัวและม้า เครื่องเบญจรงค์ กล้องยาสูบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่า เด็กยุคใหม่หรือคนรุ่นราวคราวเดียวกับเรา คงไม่รู้จักและไม่เคยเห็นอย่างแน่นอน ขนาดเราเดินเข้าไปชม ยังรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับสิ่งเหล่านี้ เพราะแทบจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเลยค่ะ เราใช้เวลาเดินชมอยู่นานทีเดียว แปลกตาน่าสนใจมากๆ ค่ะ


อีกหนึ่งอาคารจะต้องแวะเข้าไปนมัสการ คือ กุฏิพระแก้ว เป็นอาคารโถงชั้นเดียว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต หรือ พระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางมารสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม ซึ่งพระแก้วดอนเต้านี้ ได้เคยประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้ามาก่อนค่ะ ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาที่วัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เจ้าเมืองได้สั่งประหารชีวิตนางสุชาดา ด้วยข้อครหาว่ามีความสัมพันธ์กับพระมหาเถร นางจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากตนบริสุทธิ์ก็ขออย่าให้เลือดนั้นตกลงสู่พื้นดิน ปรากฎว่าเมื่อเพชฌฆาตลงดาบแล้ว เลือดนางก็กลับลอยขึ้นสู่อากาศ เมื่อเจ้าเมืองทราบเข้าก็เกิดธรรมสังเวชจนออกแตกตาย และพระมหาเถรได้อาราธนาพระแก้วดอนเต้า ติดตัวไปอยู่ที่วัดลัมภะกัปปะในเขตเมืองลำปาง ซึ่งก็คือ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั่งเอง และภายในกุฏิพระแก้ว ยังได้จัดแสดงสิ่งของต่างๆ เช่น พระคัมภีร์ใบลานโบราณ พระพุทธรูปบุทอง บุเงิน อาวุธ เครื่องกระเบื้องเคลือบ และเงินโบราณต่างๆ


จริงๆ วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังมีวิหารและอาคารอยู่หลายหลัง ซึ่งทุกวิหารและอาคารต่างก็มีศาสนวัตถุ ที่น่าชมและน่าสนใจมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจจะเก็บภาพและเก็บรายละเอียด มาไม่ทั่วถึงนัก ก็เพื่อให้ทุกๆ คนได้ไปชมด้วยตาตัวเองมากกว่าค่ะ ด้วยพระธาตุลำปางหลวง นับว่าเป็นสถานที่สำคัญ และยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในการเดินทางมาท่องเที่ยว วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพนะคะ เพื่อเป็นการเคารพและให้เกียรติสถานที่ค่ะ อีกหนึ่งเอกลักษณ์บริเวณด้านหน้าวัด เราจะพบกับคาราวานรถม้าจำนวนมาก แต่ละคันจะตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวนั่งรถม้า หรือจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ว่าเราได้มาเยือนถึงเมืองลำปางแล้ว เพราะรถม้าถือว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปางค่ะ