วัดพระพุทธบาทสี่รอย แม่ริม เชียงใหม่



วัดพระพุทธบาทสี่รอย ตั้งอยู่ที่ตำบลสะลวง  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงกันมาบ้างแล้ว เพราะถือว่าเป็นวัดที่โด่งดังมาก ไม่ใช่เฉพาะสายบุญเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวอีกด้วย วันนี้เรามีโอกาสได้ขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้  ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงในระดับต้นๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นวัดที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และที่สำคัญไปกว่านั้น รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ยังเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ถือว่าเป็นความโชคดีของเราเป็นที่สุด ที่เรามีโอกาสได้ขึ้นมาเยือนแบบไม่ทันได้ตั้งตัวอะไรเลย  มาแบบงงๆ เพราะลึกๆ ตั้งใจอยากขึ้นมากราบไหว้รอยพระพุทธบาทสี่รอยเช่นกัน เพราะได้ยินชื่อเสียงที่นี่มาพอสมควร ว่าเป็นวัดที่สวยงามและอากาศดีมากค่ะ




ซึ่งการเดินทางของเราถือว่าไกลพอสมควร เพราะจุดเริ่มต้นเราไม่ได้อยู่ที่ตัวเมืองเชียงใหม่ แต่เราอยู่ที่อำเภอจอมทอง เพราะฉะนั้นเราต้องขับรถจากอำเภอจอมทองเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 100 กิโลเมตร เราแวะทำธุระที่วัดร่ำเปิงก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่ริม เพื่อความแม่นยำและไม่เสียเวลาในการเดินทาง โปรดตั้ง GPS นำทางเลยนะคะ ฮ่าๆ  จากวัดร่ำเปิงไปถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอยประมาณ 55 กิโลเมตรค่ะ พอเครื่อง GPS นำทางเข้าสู่ถนนชนบทแล้ว มือถือบางเครือข่ายสัญญาณอาจจะกระท่อนกระแท่นแต่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เมื่อเข้าถนนชนบทแล้วมีป้ายบอกทางเยอะมาก คอยดูคอยมองให้ดีกันนะจ้ะ ... เด่วจะหาว่าไม่บอกกัน อิอิ  เส้นทางสัญจรถนนค่อนข้างดี ส่วนมากจะเป็นถนนเทคอนกรีตแล้ว มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่ยังเป็นถนนลูกรัง เส้นทางอาจจะมีคดเคี้ยวโค้งชันบ้าง แต่หากใครเคยขับรถขึ้นดอยสุเทพแล้ว ขับรถขึ้นมาที่นี่คงจะไม่ยากนัก แต่ถนนทางขึ้นวัดพระพุทธบาทสี่รอยจะแคบค่ะ ควรระมัดระวังในการขับขี่ให้มาก อย่าประมาณโดยเด็ดขาดนะเออ




ช้าก่อนทุกๆ ท่าน ก่อนจะถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย ทางซ้ายมือมีของขายและแปลงสตรอเบอร์รี่ให้ลงไปชมนะเออ แวะสิค่ะ!! จะรออะไรอยู่เล่า ฮ่าๆ  บอกก่อนเลยว่า ปกติเราไม่ชอบทานสตรอเบอร์รี่นะคะ แต่พอเห็นลูกแดงๆ ฉ่ำๆ และทนเสียงรบเร้าจากแม่ค้าให้ลองชิมไม่ได้ ลองหยิบมาชิมตัดความรำคาญ โอว้แม่เจ้า!! หวานฉ่ำอะไรอย่างนี้ หวานมากเลยค่ะ แม้ว่าสตรอเบอร์รี่ที่นี่ลูกจะไม่โตนัก แต่รสชาติหวานฉ่ำเกินคำบรรยาย หากผ่านมาลองแวะชิมกันได้ ไม่ซื้อแม่ค้าไม่ว่าอะไรนะคะ แม่ค้าน่ารักและบริการดีอีกด้วย ให้เราลงไปเก็บเองที่แปลง หรือจะซื้อจากที่เขาเก็บมาแล้วก็ได้ ยังให้สิทธิ์เลือกในกระป๋องอีกด้วย ยังงี้ก็ได้เหรอ??  แม่ค้าคอนเฟิร์มว่าไม่ได้ใส่ยาฆ่าแมลงนะคะ จริงหรือไม่ ... ไม่รู้เหมือนกัน อิอิ นอกจากนั้นยังมีส้มจำหน่ายอีกด้วยนะ ไร่ส้มก็ปลูกใกล้ๆ ไร่สตรอเบอร์รี่นั่นเอง สามารถเดินไปเที่ยวชมได้ ลูกโตผลสวยรสชาติก็โอเคค่ะ ขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ลองแวะชิมกันได้ ... ไม่ซื้อไม่เป็นไร แม่ค้าบอกมาอย่างนั้น ฮ่าๆ




หลังจากมัวเถลไถลอยู่ข้างทางตั้งนาน ในที่สุดเราก็เดินทางขึ้นมาถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอยในที่สุดค่ะ  ภายในวัดพระพุทธบาทสี่รอยมีสิ่งน่าสนใจหลายจุดเลยทีเดียว เช่น รอยพระพุทธบาท พระอุโบสถหลังใหม่ และพระวิหารหอเทวดา ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของที่นี่ คือ รอยพระพุทธบาทนั่นเอง เราจะค่อยๆ พาไปชมกันทีละจุดนะคะ ขับรถมาตั้งไกลหลายกิโลเมตร ขอเดินยืดเส้นยืดสายสักหน่อยนะคะ อิอิ จุดแรกเราจะพาไปชมพระวิหารหอเทวดาก่อนนะคะ เพราะตรงที่เราจอดรถเพื่อจะเดินขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยเป็นทางผ่านพอดีเลยค่ะ  และเป็นจุดแรกที่เราจะไปกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลค่ะ ส่วนประวัติความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ เราจะแนบไว้ในช่วงท้ายนะคะ หากสนใจลองอ่านและศึกษากันดูค่ะ 




หอเทวดาหรือศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป รูปหล่อ และรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ รวมทั้งรูปปั้นเทพเทวาต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาเคารพบูชา และยังมีพระพุทธรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 27 พระองค์ ประทับเรียงเป็นแถวอยู่บริเวณด้านหลังวิหารครอบรอยพระพุทธบาทให้ได้กราบไหว้กัน ซึ่งพระพุทธรูปแต่ละองค์เหลืองอร่ามงดงามยิ่งนัก บริเวณสถานที่ยังสะอาดสะอ้านผ่านการดูแลรักษาเป็นอย่างดี นั่งกราบได้เลยโดยไม่ต้องกลัวเปื้อนค่ะ




แต่เดิมนั้นใครจะดูรอยพระพุทธบาทบนยอดหินก้อนใหญ่ จะต้องใช้บันไดพาดขึ้นไปหรือปีนขึ้นไปดู ด้วยความยากลำบากจึงขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น พระยาธรรมช้างเผือกจึงตรัสสร้างแท่นยืนคล้ายนั่งร้านรอบก้อนหินที่มีพระพุทธบาทสี่รอย และได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้ ต่อมาในสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมีก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้มีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหารเป็นการกราบบูชารอยพระพุทธบาทไว้หนึ่งหลัง ซึ่งปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง พอมาสมัยเมื่อปี พ.ศ. 2472  ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทย ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อพระวิหารที่เจ้าพระยาธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราว และไดสร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่ และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอยเอาไว้




หลังจากนมัสการรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญเสร็จแล้ว นอกจากนั้นยังมีสถาปัตยกรรมอื่นที่น่าสนใจอีกด้วย เช่น วิหารจตุรมุขทรงมณฑป ที่ขอบกำแพงอุโบสถมีตัวอักษรคำว่า "แฮ้ง 3 ตั๋ว ลงบ้านหนอง 4 แจ่ง แม่ญิงเอาผัว ป้อจายออกลูกเราอ่านแล้วไม่เข้าใจ ใครพอทราบความหมายวานบอกเราทีนะคะ แห่ะๆ พระอุโบสถหลังใหม่ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2540 - 2549 โดยการนำของเจ้าอาวาสครูบาพรชัย พระอุโบสถเป็นทรงจตุรมุขชั้นเดียว มีลักษณะเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยล้านนาประยุกต์  ด้านหน้ามุขจะยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ ส่วนเรือนยอดเป็นยอดปราสาทยกฉัตรโดดเด่นสวยงาม  ตัวอาคารประดับประดาด้วยลวดลายวิจิตร ทางเข้าขนาบด้วยปูนปั้นมกรคายนาคทุกด้าน  




ส่วนพระประทานในอุโบสถอันเป็นหัวใจหลักของอุโบสถพระพุทธบาทสี่รอย มีทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน คือ พระพุทธรังสีอริยเมตไตรย เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย พระพุทธบรมจักรพรรดิตราธิราช เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ศิลปะประยุกต์ ประดิษฐานเป็นพระองค์ศูนย์กลาง ด้านหน้าพระพุทธรังศรีอริยเมตไตรย พระพุทธไตรรัตนโลกวิภู เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางเปิดโลก ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายของพระพุทธบรมจักรพรรดิตราธิราช  พระพุทธพรชัยนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ทางด้านขวาของพระพุทธรูปบรมจักรพรรดิตราธิราช  และ พระพุทธประทานพร เป็นพระพุทธรูปอุ้มบาตรประทานพร ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระพุทธบรมจักรพรรดิตราธิราช ซึ่งพระประทานทั้ง 5 องค์ นอกจากจะได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังได้บรรจุเส้นพระเกษาธาตุของครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยอีกด้วยนะคะ 




ถึงแม้ว่าวัดพระพุทธบาทสี่รอย จะตั้งอยู่บนเขาสูง การเดินทางขึ้นไปค่อนข้างจะยากลำบากพอสมควร เพราะถนนค่อนข้างแคบเล็ก แต่ก็มีบรรดาพุทธศาสนิชนที่มีความเคารพบูชาพระพุทธบาท ต่างก็ขึ้นไปกราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก ถ้าหากใครมีความตั้งใจหรือมีโอกาสได้ขึ้นมากราบไหว้ถือว่าเป็นความโชคดีที่สุดแล้วค่ะ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัวแล้ว นอกจากนั้นยังถือโอกาสได้ขึ้นมาสัมผัสกับอากาศดีดีปราศจากมลพิษอีกด้วย และวัดพระพุทธบาทสี่รอย ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวของนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาเยือนจุดหมายปลายทางแห่งนี้ค่ะ




ตํานานวัดพระพุทธบาทสี่รอย
เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ ได้เสด็จจาริกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจันตประเทศ ( ประเทศไทยปัจจุบัน ) จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศชื่อ "เขาเวภารบรรพต"  ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก 500 องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่า  บนเทือกเขาแห่งนี้ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินใหญ่ คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระ พุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์  คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ อันมีในที่นี้พุทธสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นประธาน เมื่อเห็นเช่นนี้จึงทูลถามว่าพระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด พระพุทธองค์ตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายสถานที่แห่งนี้ แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ทุกๆ พระองค์ และแม้นว่าพระศรีอาริยเมตไตร ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ และจักประทับรอยพระบาทสี่รอยนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ( คือ ประทับลบทั้งสี่รอยให้เหลือรอยเดียว ) เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ จึงมีรอยพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์จึงกําเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาท ของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นแล้วก็ทรงอธิฐานว่า ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนําเอาพระธาตุของกูตถาคมมาบรรจุไว้ที่รอยพระบาทที่นี่ ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว 2,000 ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้ก็จักปรากฏแก่ปวงคนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มาไหว้และบูชา เมื่อทรงอธิษฐานและทํานายไว้ดังนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปเชตวันอารามอันมีในเมืองสาวัตถีวันนั้นแล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงนิพพานไปแล้วเทวดาทั้งหลาย ก็นําเอาพระธาตุของพระพุทธองค์มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอย  เมื่อพระพุทธองค์นิพพานล่วงแล้วประมาณ 2,000 วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการอยากให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏแก่คนทั้งหลายตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานไว้ จึงเนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่ (เหยี่ยว) ก็บินลงจากภูเขาเวภารบรรพตอันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้ เพื่อบินลงไปเอาลูกไก่ชาวบ้าน (คนป่า) ที่อยู่ตีนเขาเวภารบรรพต แล้วก็บินกลับขึ้นไปอยู่ยอดเขา มันก็โกรธมากจึงตามขึ้นไปคิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็ติดตามไปค้นหาดู แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้นอีก แต่เห็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยอันอยู่พื้นต้นไม้และเถาวัลย์  พรานป่าผู้นั้นก็ทําการสักการะบูชา เสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา พอมาถึงหมู่บ้านก็บอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลายฟังความอันนั้น ก็ปรากฏสืบๆ กันไปแต่แรกนั้น คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชามาก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า พระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว) ในสมัยนั้นมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่าพระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธาอยากเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาทสี่รอย ก็นําเอาราชเทวี และเสนาพร้อมกับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว ก็นําเอาบริวารของตนกลับมาสู่เมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชสมบัติตราบเมี้ยนอายุขัยแล้ว ก็เจริญตามรอยและได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาททั้งสี่รอย ทุกๆ พระองค์ หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้งหรือรังเหยี่ยวก็เปลี่ยนชื่อเป็น "พระพุทธบาทสี่รอย" เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึงสี่รอย คือ มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ

1. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก
2. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก
3. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก
4. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ ( ศาสนาปัจจุบัน ) เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก

เครดิตข้อมูลจาก  สำนักวัฒนธรรมจังหวัดน่าน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น