วัดหนองบัว ท่าวังผา น่าน



การเดินทางมาจังหวัดน่านในครั้งนี้  ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสได้ไปวัดต่างๆ มากมาย วันนี้เราก็มาเที่ยวและไหว้พระกันอีกแล้ว ณ วัดหนองบัว หากใครเคยเดินทางมาแถวอำเภอปัวหรืออำเภอท่าวังผา ไม่ควรพลาดแวะมาที่วัดแห่งนี้นะคะ เพราะว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามให้ได้ชมกัน วัดหนองบัวเป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว อยู่ในตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ซึ่งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านไทลื้อที่สงบร่มเย็น และวัดแห่งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมชิ้นเอกของเมืองน่านอีกด้วย 




เราขับรถมาจอดยังบริเวณด้านหน้าที่เป็นลานจอดเรียบร้อยแล้ว ก็เดินตามป้ายบอกทางเลยค่ะ ซึ่งการเข้าวัดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนไทยได้ปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน เพราะคนส่วนใหญ่มาวัดก็เพื่อมาทำบุญ เพื่อความสบายใจ เพื่อความสุข และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสิ่งที่สำคัญ คือ การเข้าวัดเพื่อได้ฝึกการสำรวม และวัดยังเป็นสถานที่อันสงบและวิเวก เหมาะแก่การมาฝึกปฏิบัติและทำสมาธิ วัดจะไม่มีสิ่งเร้าที่จะตามมาให้จิตใจเราวุ่นวาย เสมือนเราอยู่อีกโลกหนึ่งไปเลย อยากให้ชาวพุทธทุกคนได้เข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรมกันให้มากๆ เพื่อศาสนาพุทธของเรา จะได้ฟื้นฟูศาสนาพุทธให้รุ่งเรืองในผืนแผ่นดินไทยเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา




สองเท้าที่ก้าวเดินเข้ามายังวัดหนองบัว เราได้ยินเสียงดนตรีไทยแว่วมาตามสายลม ยิ่งเดินยิ่งใกล้และได้ยินเสียงชัดเจนมากขึ้น ในไม่ช้าเราก็ได้พบเจอกับต้นเสียงนั้น ซึ่งมีคุณลุง 3 ท่าน มานั่งเล่นดนตรีไทยอยู่บริเวณด้านหน้าวิหาร สิ่งเหล่านี้ คือมนต์เสน่ห์ทำให้ตราตรึงใจยิ่งนัก เพราะยากที่จะได้พบเจอจากที่ใด และนี่คือเสน่ห์ของทางภาคเหนือค่ะ เสียงดนตรีที่แว่วมาตามสายลมกับบรรยากาศที่เงียบสงบ และร่มเย็นของต้นไม้ภายในวัด มันทำให้หัวใจเบิกบานและสดชื่นเป็นอย่างมาก  แค่ยืนฟังเหมือนตกอยู่ในภวังค์ค่ะ อิอิ 




วัดหนองบัวเป็นวัดที่เก่าแก่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ด้วยเอกลักษณ์ซึ่งต่างจากวัดอื่นๆ ซึ่งวิหารวัดหนองบัวนั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีลักษณะการตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย แต่อาคารของวิหารด้านในนั้นทรงคุณค่ามากมายนัก ในเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่สวยงามและหาดูได้ยาก ภาพที่เขียนอยู่ด้านในวิหารได้ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือของชาวไทลื้อเมืองน่าน ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะ และความสมบูรณ์ของภาพใกล้เคียงกับจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ น่าเสียดายอย่างยิ่งค่ะ ที่เราแทบจะไม่ได้ถ่ายรูปภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารมาเลย เก็บมาได้เพียงไม่กี่ภาพเอง เนื่องจากขาดความรู้ว่าวัดหนองบัวมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีสิ่งน่าสนใจในเรื่องอะไรบ้าง นี่คือ ข้อบกพร่องของเราที่ไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงจะได้เก็บภาพมาประกอบเรื่องราวได้สมบูรณ์มากกว่านี้ค่ะ แต่ถึงแม้ว่าเราจะถ่ายภาพมาน้อย แต่เราจะหาข้อมูลมาประกอบให้มากที่สุดล่ะกันเนอะ เพื่อชดเชยข้อบกพร่องในการนี้ แฮ่ๆ 




วัดหนองบัวสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ 2405  โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะ ร่วมกับชาวบ้านหนองบัว ประวัติของวัดหนองบัวและประวัติจิตรกรรมไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ การสืบประวัติจะต้องอาศัยข้อมูลจากสองทางด้วยกัน คือ สืบจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และสืบจากการสังเกตจากรายละเอียดที่แสดงไว้ในภาพเขียนฝาผนังค่ะ เราออกมาเดินเล่นด้านนอกวิหารหลังใหญ่ ก็พบกับวิหารหลังเล็กที่อยู่ด้านข้างอีกหนึ่งหลัง โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะวิหารแบ่งเป็น 2 ส่วน เช่นเดียวกับวิหารหลังใหญ่ คือ ส่วนแรกเป็นมุขหน้า และส่วนที่สองเป็นตัววิหาร ส่วนวิหารหลังเล็กนี้ ด้านในจะไม่มีภาพวาดบนฝาผนังนะคะ




เดินเล่นมาทางด้านหลังของวัดหนองบัว ก็จะพบกับที่ตั้งของชุมชนชาวไทลื้อ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อได้อย่างใกล้ชิด และมีบ้านที่จัดแสดงความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อให้ได้ชมกันแบบฉบับเต็ม ส่วนบนบ้านจะมีให้ชมทั้งห้องนอน และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินอีกด้วย ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างก็พอรู้จักและคุ้นตาอยู่บ้าง แต่ของบางชิ้นก็รู้สึกแปลกตาสำหรับเรามากมายค่ะ เครื่องมือเครื่องใช้แต่ละชิ้นที่ใช้ในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นพวก หม้อ ไห โอ่ง ล้วนเป็นดินเผาทั้งสิ้น ส่วนพวกเครื่องจักรสานบนบ้านหลังนี้ก็เยอะอยู่เหมือนกัน แต่ที่เรารู้จักก็เยอะอยู่เหมือนกันนะเออ เด่วจะหาว่าคุย เช่น ตะกร้า กระบุง เข่ง กระจาด ตะกร้อ ข้อง สุ่ม กระชัง กระด้ง โอ๊ย!! ลายตาไปหมด ได้ทีโม้เยอะเลยเรา ฮ่าๆ  




ส่วนด้านล่างใต้ถุนบ้านจะมีการสาธิตการทอผ้า โดยกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านหนองบัวค่ะ และยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าทอมืออีกด้วย ซึ่งเป็นสินค้าชุมชนของบ้านหนองบัว ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองประจำเผ่าที่สวยงาม ที่เรียกกันว่า “ผ้าลายน้ำไหล” ซึ่งนับว่าเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย ผ้าทอไทยลื้อของชุมชนบ้านหนองบัวเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อ ซึ่งยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมโบราณของตนเองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานว่าการออกแบบลายผ้าทอชาวไทลื้อนั้น ได้สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ผ้าทอลายน้ำไหลเริ่มทอกันครั้งแรกที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ และสาเหตุที่เรียกผ้าทอลายน้ำไหล ก็เพราะลวดลายที่ออกมามีลักษณะเหมือนลายน้ำไหล แต่ปัจจุบันได้คิดพลิกแพลงลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย เช่น ลายจรวด เป็นการเพิ่มหยักในลายน้ำไหล เป็นลายที่มีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายดอกไม้ และลายแมงมุม เป็นต้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ก็มีออกมาจำหน่ายเช่นกัน เช่น เสื้อ ผ้านุ่ง กระโปรง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า และผ้าม่าน




วัดหนองบัวถือว่าเป็นศูนย์กลางชุมชน ไม่ใช่เพียงการเผยแผ่หลักธรรมเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาวัดและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ภายในวัดและชุมชมรอบวัดให้สะอาดสะอ้าน ร่มรื่น เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม โดยการจัดสถานที่และมุมถ่ายภาพไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก โดยการนำวัสดุที่เหลือใช้นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม




ก่อนอื่นเราต้องขอออกตัวเล็กน้อยนะคะ ว่าเราเองก็ไม่ค่อยสันทัดเกี่ยวกับวัดวาอารามมากนัก เพียงแต่เวลาออกต่างจังหวัดหรือทำบุญั้น ถึงจะได้เข้าวัดแบบจริงจัง แต่กระนั้นก็ยังขาดความรู้และข้อมูลต่างๆ ของแต่ละวัดอยู่ดี แต่ละสถานที่ที่เราได้เดินทางไป ไม่ว่าจะทำบุญไหว้พระ หรือท่องเที่ยวก็แค่ไปกราบไหว้ ไปชมไปดู และถ่ายภาพเท่านั้น แต่เมื่อมีโอกาสได้มาเขียนบล็อกที่นี่ คือ ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ มาประกอบรูปภาพจนเป็นเรื่องราว ทำให้เราได้เรียนรู้ในอีกระดับหนึ่ง มากกว่าการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่เพียงแค่เก็บภาพถ่ายแล้วปล่อยให้ความทรงจำเหล่านั้นเลือนหายไปกับกาลเวลา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น